วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

นิทานเรื่อง กระต่ายกับเต่า เมื่อประเทศเราเป็นกระต่าย (เน้นการศึกษา และประชาคมอาเซียน).


... กาลครั้งหนึ่งในป่าใหญ่ มีสัตว์อาศัยอยู่รวมกัน 10 ชนิด รวมไปถึง เจ้ากระต่ายผู้ปราดเปรียว และเต่าน้อยผู้เชื่องช้าอีกด้วย .. วันดีคืนดี เจ้ากระต่าย และเจ้าเต่า เกิดถกเถียงกันว่าใครเดินทางได้เร็วกว่ากัน? .. ทั้งคู่จึงตกลงที่จะวิ่งแข่งขัน โดยมีการกำหนดเส้นทางวิ่งแล้วก็เริ่มการแข่งขัน .. "ปี๊ดดด" เมื่อสัญญาณเริ่มวิ่งดังขึ้น เจ้ากระต่ายก็รีบวิ่งออกตัวไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เจ้าเต่าน้อยค่อยๆ เดินไปอย่างช้าๆ .. ผ่านไปสักพัก .. เจ้ากระต่ายน้อยนำโด่งมาไกล ก็เลยชะล่าใจ คิดว่าพักผ่อนใต้ต้นไม้ซักกะแป๊บนึงก่อนแข่งต่อก็คงไม่เป็นไร .. เวลาก็ผ่านไปแล้ว ผ่านไปเล่า จนกระต่ายน้อยสะดุ้งตื่น .. เจ้ากระต่ายน้อยตาลีตาลานมองหาเจ้าเต่าว่าอยู่ที่ไหน แต่ทุกอย่างมันก็สายไปแล้ว เพราะตอนนี้เจ้าเต่าค่อยๆ คลานเข้าเส้นชัยไปอย่างช้าๆ ...



... ประเทศไทย ไม่ได้แตกต่างอะไรกับเจ้ากระต่ายผู้ปราดเปรียวนัก เพราะมัวแต่ทะนงตนอยู่ในฐานะของผู้นำของประชาคมอาเซียน และเป็นผู้ริเริ่มและก่อตั้ง สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East AsianNations หรือ ASEAN) ขึ้น  แต่อย่าลืมว่า ในขณะที่เรากำลังนิ่งนอนใจกับความพร้อม และศักยภาพของเราเท่าที่มีอยู่นี้ ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายในประชาคมอาเซียนกำลังเร่งพัฒนา ปรับจุดอ่อน เสริมจุดแข็งของตนเอง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ภาษา และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของตนเอง และ เมื่อเรามองในมุมของการศึกษาไทยที่จะได้รับผลกระทบเมื่อมีการรวมกลุ่มประเทศอาเซียนกันอย่างเป็นทางการแล้วนั้น พบว่า จุดแข็งของไทยเรายังคงเป็นเรื่องของ บุคลากร เนื้อหาทางวิชาการ มาตราฐานของสถาบันทางการศึกษา และทำเลที่ตั้งของไทยในภูมิภาคอาเซียน โดยที่จุดอ่อนทางการศึกษาที่เห็นได้ชัดเจนนั่นคือ ความรู้ทางด้านภาษา และตัวลักษณะนิสัยของเด็กไทย ...


 

 
 
... เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเข้าร่วมประชาคมอาเซียนของประเทศไทยที่จะเกิดอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2015 นี้ ส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมกับการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความแตกต่างทางด้านภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม รวมไปถึงองค์ความรู้ และบริบทในพื้นที่ต่างๆ ทั้ง 10 ประเทศของประชาคมอาเซียน ซึ่งการปรับตัวภายใต้ยุทธศาสตร์วิสัยทัศน์เดียว เอกลักษณ์เดียว และประชาคมเดียว เพื่อความเจริญมั่นคงของประชากร ทรัพยากร และเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่คนไทยต้องตระหนัก และก้าวไปให้ทันอีก 9 ประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านการศึกษา นั่นหมายถึง การเร่งการพัฒนาหลักสูตร การปูพื้นฐานเนื้อหาทางวิชาการ และภาษา รวมไปถึง การเตรียมตัวที่จะเปิดเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียน (Education Hub) ซึ่งผลกระทบที่จะส่งต่อมายังกลุ่มนักศึกษาในระดับบัณฑิตวิทยาลัยนี้ คือการแข่งขันทางด้านความรู้ และภาษา รวมไปถึง เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว ยังต้องแข่งขันกันในด้านของศักยภาพการทำงาน เนื่องจากมีการไหลอย่างเสรีของแรงงานคุณภาพ ทำให้มีการแข่งขันในสนามของอาเซียนที่รุนแรงขึ้น แน่นอนว่า ประเทศไทยเราไม่ใช่ที่ 1 ทางด้านการศึกษา ยังมีประเทศอีกหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ที่มีความโดดเด่นของศักยภาพทางการศึกษา และภาษา มากกว่าประเทศไทย ซึ่งนั่นหมายถึง ขีดความสามารถในการพัฒนาทรัพยากรของบุคคลของประเทศอื่นๆ ในประชาคมอาเซียนนั้นเข้มแข็งกว่าเรา นั่นจะส่งผลต่อการปรับตัวในหลายๆ ด้านของนักศึกษา และสถานศึกษาของประเทศไทย นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนเวลา และการไหลของกลุ่มนักศึกษา และแรงงานคุณภาพจากประเทศสมาชิก ยังเป็นอีกประเด็นที่ต้องเร่งรองรับ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ใช่เพียงการรู้จักธงชาติ ผู้นำ หรือรสชาติอาหารของแต่ละชาติ แต่หมายถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในแต่ละประเทศ ...



... หากเรายังคงยึดอยู่ในความเป็นผู้นำ ไม่ยอมมองออกไปดูรอบๆ ไม่กล้าที่จะยอมรับความจริงว่า ทุกประเทศเตรียมพร้อมเข้าสู่อาเซียน และก้าวไปไกลกว่าประเทศไทยแค่ไหน ประเทศของเราคงไม่ต่างอะไรกับ เจ้ากระต่ายน้อย ที่นอนรอ เพียงเพราะชะล่าใจว่า ยังไงเส้นชัยก็อยู่ข้างหน้า ...


 

1 ความคิดเห็น: