วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ฮิปโปโปเตมัส ...

... อะไรเอ่ย ตัวโตอ้วนโต ชอบอาศัยในน้ำ กินพืชเป็นอาหาร มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบแอฟริกา หน้าตาเหมือนหมู มีหูเล็กๆ หางคล้ายใบพาย มีหนวด และขนที่หาง ...

มะลิวัลย์ และมะยมลูกสาว (สวนสัตว์เชียงใหม่)

... ฮิปโปโปเตมัส (Hippopotamus amphibius) ชื่อนี้มาจากคำสองคำ คือ ฮิปโป (Hippo) แปลว่าม้า และ โปตามอน (Potamon) แปลว่าแม่น้ำ หมายความรวมว่า ม้าแม่น้ำ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินพืชเป็นอาหาร (herbivorous) อาศัยอยู่บนบก ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจาก ช้าง และ แรด มีน้ำหนักประมาณ 600 - 3,000 กิโลกรัม ช่วงหัวมีลักษณะคล้ายจมูกม้าใหญ่ๆ ตาอยู่บริเวณด้านข้างมีขนตาบน และล่าง สามารถมองได้ทั้งด้านหน้า และด้านข้าง จมูกอยู่ด้านบนมีรูเปิดที่สามารถปิดเวลาอยู่ในน้ำได้ หูเล็กตั้งอยู่บริเวณด้านบนของหัวจะกดใบหูลงเมื่อดำน้ำ ปากอ้าได้กว้างมาก ในช่องปากมีฟัน 3 ชุด ประกอบด้วย ฟันบน ฟันล่าง และฟันกลางเพดานปาก โดยฟันชุดล่างมีฟันเขี้ยว (canines) ซึ่งยาวประมาณ 20 - 50 เซนติเมตร สามารถรักษาความคมของฟันเขี้ยวได้โดยการลับคมกับฟันคู่บน ในเพศผู้ฟันตัดชุดด้านล่าง (lower incisors) มีลักษณะเรียงต่อกัน ลำตัวอ้วน ล่ำ เตี้ย ผิวหนาประมาณ 1.5 นิ้ว ซึ่งมีน้ำหนักรวมเป็น 1 ใน 4 ของน้ำหนักตัวทั้งหมด ผิวมีลักษณะเรียบลื่นไม่มีขน แต่มีขนแข็งบริเวณปาก หลัง และหาง มีต่อมที่ผลิตเมือกสีแดงให้เคลือบอยู่ที่ผิวเพื่อป้องกันแมลง เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และควบคุมอุณหภูมิในร่างกายอีกด้วย ไม่มีต่อมผลิตกลิ่น และต่อมเหงื่อ มีนม 1 คู่ ผิวมีสีน้ำตาล ไปจนถึงสีเทาอมม่วง และมีสีชมพูบริเวณลำตัวด้านล่าง และหน้าอก ขาขนาดใหญ่ สั้น คล้ายตอไม้ มีนิ้วเพียงขาละ 4 นิ้ว ซึ่งมีพังผืดยึดระหว่างนิ้ว และกางออกจากกันเวลาเดินหรือยืนอยู่บนพื้นดิน ซึ่งเป็นลักษณะของสัตว์กีบคู่ (cervidae)หางมีลักษณะกลมและสั้น แต่ตอนปลายแผ่แบนออกเล็กน้อย (paddle) ในเพศผู้อวัยวะเพศจะโค้งไปทางด้านหาง และมีอัณฐะอยู่ด้านในลำตัว (testes internal) ...

เหงื่อเลือด (Blood sweat)
 
... ฮิปโปโปเตมัสในธรรมชาตินั้นเป็นสัตว์ที่มีความก้าวร้าวที่สุดในโลก และบ่อยครั้งถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่อันตรายมากในแอฟฟริกา เนื่องจากสถิตินั้น พบว่าฮิปโปโปเตมัสในทวีปแอฟริกาเป็นสัตว์ที่ทำร้ายมนุษย์มากที่สุด ซึ่งเมื่อฮิปโปหงุดหงิด และก้าวร้าวนั้นจะวิ่งได้เร็วประมาณ 30 – 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา (Africa) ฮิปโปโปเตมัสเป็นสัตว์ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำจืด เพื่อรักษาความเย็นของร่างกาย หากขึ้นมาอยู่บนบกนานๆ ต่อมที่ผิวหนังจะสร้างเมือกที่มีสีน้ำตาลแกมแดงที่มีปริมาณเกลือสูงขึ้นทั่วลำตัว ดูเหมือนว่ามันมีเลือดไหลซึมทั่วทั้งตัว (blood sweat) เป็นประโยชน์ต่อฮิปโปโปเตมัสในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค และป้องการดูดกลืนแสงของเม็ดสีในช่วงอัลตราไวโอเลตที่สูง ...





แผนภูมิต้นไม้ แสดงความใกล้ชิดวิวัฒนาการของฮิปโปโปเตมัส
 
... อดีตเคยเชื่อว่า ฮิปโปโปเตมัสนั้น มีบรรพบุรุษร่วมกันกับ หมูป่า (Sus scrofa) เนื่องจากมีลักษณะกระโหลกที่คล้ายคล้าย แต่จากหลักฐานทางวิวัฒนาการทำให้เราทราบว่า ที่จริงแล้วฮิปโปโปเตมัสเป็นพี่น้องร่วมสายวิวัฒนาการใกล้ชิดกับเจ้าวาฬทะเลตัวมหึมา มากกว่า ...

รูปร่างที่คล้ายกันของ หมูป่า และ ฮิปโปโปเตมัส
 
 
ลักษณะกระโหลกเปรียบเทียบระหว่างหมูป่า Sus scrofa (ล่าง) กับ ฮิปโปโปเตมัส (บน)
 

... ปัจจุบันในประเทศพบเจ้าฮิปโปโปเตมัสได้ในสัตว์ทั่วประเทศ โดยแต่ละตัวมีต้นกำเนิดมาจากฮิปโปโปเตมัสตัวเดียวกันนั่นคือ แม่มะลิ ที่สวนสัตว์ดุสิตนั่นเอง ...

แม่มะลิ ณ สวนสัตว์ดุสิต
 
รายชื่อลูกๆของแม่มะลิที่กระจายไปสวนสัตว์ต่างๆ
ตอร์ปิโด เพศผู้ สวนสัตว์เชียงใหม่
วีรชน  เพศผู้ สวนสัตว์เชียงใหม่
มะลิวัลย์ เพศเมีย สวนสัตว์เชียงใหม่
กรุณา  เพศผู้ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
หนุ่ม  เพศผู้ เสียชีวิต
ปราณี  เพศเมีย สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
ไม่มีชื่อ  เพศเมีย สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
มาลัย  เพศเมีย มาเลเซีย
เก่ง  เพศผู้ ฟาร์มจระเข้
เก้า  เพศผู้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
หนึ่ง  เพศผู้  สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
เล็ก  เพศเมีย สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
กระทง  เพศผู้ สวนสัตว์นครราชสีมา
มะยม  เพศผู้ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
 
 

วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

.. โลกนี้เล็ก เพราะเทคโนโลยี ..

 

... ทุกวันนี้สังคมออนไลน์ (Social network) ได้เข้ามามีบทบาทในโลกปัจจุบันมากขึ้น ทั้งทางด้านข่าวสาร การติดต่อ ค้นคว้า หาข้อมูล รวมไปถึง ทางด้านการศึกษา นั่นหมายถึง อากาศที่ไหลผ่านร่างกายเราทุกวันนี้มีแต่ข้อมูล ที่อัพเดทกันรายวินาที สำหรับทางด้านการศึกษา อินเตอร์เนตได้ย่อโลกทั้งใบ มาไว้ในอุ้งมือ ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างครู - นักเรียน, ผู้รู้ - ผู้ไม่รู้, คนที่มีความถนัดในแต่ละด้าน ได้เข้ามาแชร์ข้อมูลกัน เข้ามาอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ ที่แต่ละคนสนใจ ทุกอย่างมันง่ายขึ้น ...
 
 
 
... สังคมออนไลน์ที่ต้องพูดถึงนั่นคือ เฟสบุ๊ค (Facebook) นับเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด และมีประโยชน์อย่างมากในโลกปัจจุบัน สามารถใช้งานได้ง่าย เพราะเป็นหน้าเวปสำเร็จรูป สามารถใส่รูปภาพ ตัวอักษร ได้ง่าย และสร้างขึ้นมาเพื่อติดต่อสื่อสารกันโดยเฉพาะ มีการสร้างแฟนเพจ (fanpage) เพื่อให้นักเรียนสามารถมาติดตามข่าวสารจากครู นอกจากนี้ยังสามารถตั้ง กรุ๊ป เพื่อจัดแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม/ห้อง และสั่งงานได้ง่ายขึ้น ไม่เพียงแต่ เฟสบุ๊ค เท่านั้น ยังคงมีเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ อีก เช่น Twitter, Pinterest, Flickr, Google+, Youtube และ Blog ฯลฯ ซึ่งมีการใช้งานในรูปแบบที่แตกต่างกัน...

... Twitter เป็นอีกสังคมออนไลน์ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของความรวดเร็ว และความกระชับของข้อมูล เนื่องจาก อนุญาติให้โพสครั้งละไม่เกิน 140 ตัวอักษร และสามารถติดฉลาก (hashtag, #) ได้ หากนักเรียนทุกคนมีอุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เนตได้ การใช้ twitter ในการตอบคำถามในห้องเรียน แทนการยกมือคงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะไม่ต้องสั่งซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้งานดังกล่าวอีก นับว่าเป็นการลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ และเพิ่มผลกำไรทางการศึกษา ...
 
... จากการที่เราต้องเดินเข้าห้องสมุด เพื่อหาคำตอบที่เราอยากรู้ อินเตอร์เนตได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากมายในด้านการค้นคว้าหาข้อมูล หาคำตอบที่เราไม่แน่ใจ เราสามารถหยิบสมาร์ทโฟน หรือเครื่องมือที่สามารถต่อเข้ากับอินเตอร์เนต และหาคำตอบ สำหรับข้อสงสัยต่างๆ ได้อย่างทันที!! ใช่ ทุกอย่างมันง่ายดายไปหมด ...
 
 
 
... จากสมุดจดการบ้าน ที่เด็กๆ ต้องเขียนการบ้านทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน เมื่อทำการบ้านเสร็จครบ ผู้ปกครองก็ลงชื่อ หรือแม้กระทั่ง ใช้สมุดดังกล่าวสื่อสารกันระหว่าง ครู - ผู้ปกครอง ปัจจุบัน ครู และผู้ปกครองใช้ช่องทางของสังคมออนไลน์ในการติดต่อสื่อสาร รายงานพฤติกรรม รวมไปถึงแจ้งการบ้าน และข่าวสารต่างๆ ของทางโรงเรียนให้ผู้ปกครองทราบ โดยตรง นับว่าเป็นการส่งตรงข้อมูล จากโรงเรียนถึงผู้ปกครอง เป็นการลดปัญหา ข่าวสารส่งไม่ถึงผู้ปกครอง และลดการใช้ทรัพยากรทางกระดาษด้วย ปัจจุบัน มีโรงเรียนนำร่อง เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้นำประโยชน์ของเทคโนโลยี ข้อความสั้น (SMS) ที่ส่งผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้เพื่อส่งข่าวสารโดยตรงให้กับผู้ปกครอง ... 
 
 
... นอกจากเครื่องข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ แล้ว เวปไซต์ที่สำคัญต่อกระบวนการทางการศึกษาอีกอย่างหนึ่ง นั้นคือ Youtube ซึ่งเป็นแหล่งค้นคว้าสื่อ วีดีโอ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้น โดย Youtube เป็นแหล่งรวบรวมสื่อที่เป็นวีดีโอ ภาพเสมือนจริง และเสียง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าไปทบทวนบทเรียนได้ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้มีการนำเทคโนโลยีสื่อทางไกลมาใช้จัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียน หรือที่เรียกกันว่า Video On Demand เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา และลดค่าใช้จ่าย รวมไปถึง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเวปไซต์ ทรู ปลูกปัญญา ที่สร้างขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้เข้ามาศึกษา ค้นคว้า พร้อมทั้งทบทวนเนื้อหาวิชาการต่างๆ พร้อมทั้งใช้เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นระหว่างกัน  ...
 

... แม้ว่าการใช้เทคโนโลยีสังคมออนไลน์ อาจจะยังไม่ได้ใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย แต่ถ้าหากว่า นำกระบวนการดังกล่าว เชื่อมโยงเข้ากับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น Tablet หรือ wimax (โครงข่ายอินเตอร์เนตความเร็วสูง) จะทำให้การใช้สังคมออนไลน์สำหรับการศึกษา เป็นไปได้อย่างครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และเท่าเทียมกันทั้งโลก ...


วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

นิทานเรื่อง กระต่ายกับเต่า เมื่อประเทศเราเป็นกระต่าย (เน้นการศึกษา และประชาคมอาเซียน).


... กาลครั้งหนึ่งในป่าใหญ่ มีสัตว์อาศัยอยู่รวมกัน 10 ชนิด รวมไปถึง เจ้ากระต่ายผู้ปราดเปรียว และเต่าน้อยผู้เชื่องช้าอีกด้วย .. วันดีคืนดี เจ้ากระต่าย และเจ้าเต่า เกิดถกเถียงกันว่าใครเดินทางได้เร็วกว่ากัน? .. ทั้งคู่จึงตกลงที่จะวิ่งแข่งขัน โดยมีการกำหนดเส้นทางวิ่งแล้วก็เริ่มการแข่งขัน .. "ปี๊ดดด" เมื่อสัญญาณเริ่มวิ่งดังขึ้น เจ้ากระต่ายก็รีบวิ่งออกตัวไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เจ้าเต่าน้อยค่อยๆ เดินไปอย่างช้าๆ .. ผ่านไปสักพัก .. เจ้ากระต่ายน้อยนำโด่งมาไกล ก็เลยชะล่าใจ คิดว่าพักผ่อนใต้ต้นไม้ซักกะแป๊บนึงก่อนแข่งต่อก็คงไม่เป็นไร .. เวลาก็ผ่านไปแล้ว ผ่านไปเล่า จนกระต่ายน้อยสะดุ้งตื่น .. เจ้ากระต่ายน้อยตาลีตาลานมองหาเจ้าเต่าว่าอยู่ที่ไหน แต่ทุกอย่างมันก็สายไปแล้ว เพราะตอนนี้เจ้าเต่าค่อยๆ คลานเข้าเส้นชัยไปอย่างช้าๆ ...



... ประเทศไทย ไม่ได้แตกต่างอะไรกับเจ้ากระต่ายผู้ปราดเปรียวนัก เพราะมัวแต่ทะนงตนอยู่ในฐานะของผู้นำของประชาคมอาเซียน และเป็นผู้ริเริ่มและก่อตั้ง สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East AsianNations หรือ ASEAN) ขึ้น  แต่อย่าลืมว่า ในขณะที่เรากำลังนิ่งนอนใจกับความพร้อม และศักยภาพของเราเท่าที่มีอยู่นี้ ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายในประชาคมอาเซียนกำลังเร่งพัฒนา ปรับจุดอ่อน เสริมจุดแข็งของตนเอง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ภาษา และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของตนเอง และ เมื่อเรามองในมุมของการศึกษาไทยที่จะได้รับผลกระทบเมื่อมีการรวมกลุ่มประเทศอาเซียนกันอย่างเป็นทางการแล้วนั้น พบว่า จุดแข็งของไทยเรายังคงเป็นเรื่องของ บุคลากร เนื้อหาทางวิชาการ มาตราฐานของสถาบันทางการศึกษา และทำเลที่ตั้งของไทยในภูมิภาคอาเซียน โดยที่จุดอ่อนทางการศึกษาที่เห็นได้ชัดเจนนั่นคือ ความรู้ทางด้านภาษา และตัวลักษณะนิสัยของเด็กไทย ...


 

 
 
... เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเข้าร่วมประชาคมอาเซียนของประเทศไทยที่จะเกิดอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2015 นี้ ส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมกับการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความแตกต่างทางด้านภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม รวมไปถึงองค์ความรู้ และบริบทในพื้นที่ต่างๆ ทั้ง 10 ประเทศของประชาคมอาเซียน ซึ่งการปรับตัวภายใต้ยุทธศาสตร์วิสัยทัศน์เดียว เอกลักษณ์เดียว และประชาคมเดียว เพื่อความเจริญมั่นคงของประชากร ทรัพยากร และเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่คนไทยต้องตระหนัก และก้าวไปให้ทันอีก 9 ประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านการศึกษา นั่นหมายถึง การเร่งการพัฒนาหลักสูตร การปูพื้นฐานเนื้อหาทางวิชาการ และภาษา รวมไปถึง การเตรียมตัวที่จะเปิดเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียน (Education Hub) ซึ่งผลกระทบที่จะส่งต่อมายังกลุ่มนักศึกษาในระดับบัณฑิตวิทยาลัยนี้ คือการแข่งขันทางด้านความรู้ และภาษา รวมไปถึง เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว ยังต้องแข่งขันกันในด้านของศักยภาพการทำงาน เนื่องจากมีการไหลอย่างเสรีของแรงงานคุณภาพ ทำให้มีการแข่งขันในสนามของอาเซียนที่รุนแรงขึ้น แน่นอนว่า ประเทศไทยเราไม่ใช่ที่ 1 ทางด้านการศึกษา ยังมีประเทศอีกหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ที่มีความโดดเด่นของศักยภาพทางการศึกษา และภาษา มากกว่าประเทศไทย ซึ่งนั่นหมายถึง ขีดความสามารถในการพัฒนาทรัพยากรของบุคคลของประเทศอื่นๆ ในประชาคมอาเซียนนั้นเข้มแข็งกว่าเรา นั่นจะส่งผลต่อการปรับตัวในหลายๆ ด้านของนักศึกษา และสถานศึกษาของประเทศไทย นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนเวลา และการไหลของกลุ่มนักศึกษา และแรงงานคุณภาพจากประเทศสมาชิก ยังเป็นอีกประเด็นที่ต้องเร่งรองรับ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ใช่เพียงการรู้จักธงชาติ ผู้นำ หรือรสชาติอาหารของแต่ละชาติ แต่หมายถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในแต่ละประเทศ ...



... หากเรายังคงยึดอยู่ในความเป็นผู้นำ ไม่ยอมมองออกไปดูรอบๆ ไม่กล้าที่จะยอมรับความจริงว่า ทุกประเทศเตรียมพร้อมเข้าสู่อาเซียน และก้าวไปไกลกว่าประเทศไทยแค่ไหน ประเทศของเราคงไม่ต่างอะไรกับ เจ้ากระต่ายน้อย ที่นอนรอ เพียงเพราะชะล่าใจว่า ยังไงเส้นชัยก็อยู่ข้างหน้า ...